เรื่องของพลังงาน
หากจะเลือกซื้อ UPS สักเครื่อง ควรพิจารณาถึงอะไรบ้าง

ปัจจุบันมีผู้เข้าใจว่า การเลือกซื้อ UPS นั้น พิจารณาเพียงขนาด (VA), ระยะเวลาสำรองไฟ (Backup Time) และราคา ก็น่าจะครบถ้วนแล้ว แต่ในความเป็นจริง ยังมีปัจจัยที่ควรนำมาพิจารณาประกอบการเลือกซื้อ UPS อีกหลายข้อ เนื่องจาก UPS ในตลาด IT ของประเทศไทยตอนนี้ มีหลากหลายยี่ห้อ และแต่ละยี่ห้อก็มีหลายรุ่นด้วยเช่นเดียวกัน ยังมีทั้งที่ผลิตภายในประเทศและนำเข้า นอกจากนี้ยังมีการผลิตสินค้าใหม่ๆ ออกสู่ตลาดเพิ่มขึ้นทุกวัน ทำให้ผู้ซื้อมีทางเลือกมากขึ้น ในขณะเดียวกัน ก็สามารถสร้างความยุ่งยากในการตัดสินใจเลือกซื้ออยู่ไม่น้อย เพราะ UPS แต่ละยี่ห้อต่างก็ระบุ Specification หรือคุณสมบัติต่างๆ ที่ไม่ค่อยแตกต่างกัน ทั้งในเรื่อง ขนาด (VA), ระยะเวลาสำรองไฟ (Backup Time) หรือแม้แต่ราคาก็เช่นเดียวกัน
คุณจะไม่ยุ่งยากลำบากใจในการเลือกซื้อ UPS อีกต่อไป หลังจากได้อ่านบทความนี้ (ขอแนะนำว่า ผู้อ่านควรมีความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับคำศัพท์ต่างๆ ตลอดจนเทคโนโลยีของ UPS เสียก่อน เพื่อให้เข้าใจรายละเอียดอันเป็นหลักเกณฑ์ในการพิจารณาเลือกซื้อ UPS ได้ง่ายขึ้น)


หลักเกณฑ์ในการพิจารณาเลือกซื้อ UPS

  1. นำ UPS ไปใช้ในการป้องกันอุปกรณ์ไฟฟ้าประเภทใด มีความไวต่อคุณภาพของกระแสไฟฟ้ามากน้อยขนาดไหน และมีความสำคัญเพียงไร?
    • อุปกรณ์ไฟฟ้าประเภทที่มีความไวต่อคุณภาพของกระแสไฟฟ้า หรือเป็นอุปกรณ์ไฟฟ้าที่มีความสำคัญมาก เช่น เครื่องมือวัด, เครื่องมือแพทย์, Computer Server เป็นต้น ควรเลือกใช้ UPS ชนิด True on line UPS
    • อุปกรณ์ไฟฟ้าประเภทที่ไม่มีความไวต่อคุณภาพของกระแสไฟฟ้า หรือเป็นอุปกรณ์ไฟฟ้าที่มีความสำคัญไม่มาก เช่น คอมพิวเตอร์ที่ใช้งานภายในบ้าน หรือสำนักงาน ควรเลือกใช้ UPS ชนิด Online Protection UPS หรือ Line Interactive UPS with Stabilizer

  2. คุณภาพของกระแสไฟฟ้าในสถานที่ที่จะนำ UPS ไปใช้งานมีลักษณะเป็นอย่างไร?
    • หากสถานที่ที่จะนำ UPS ไปใช้งานมีปัญหาเรื่องความแปรปรวนของกระแสไฟฟ้ามากๆ ควรเลือกใช้ UPS ชนิด True on line UPS
    • หากสถานที่ที่จะนำ UPS ไปใช้งานไม่มีปัญหาเรื่องคุณภาพของกระแสไฟฟ้ามากนัก ควรเลือกใช้ UPS ชนิด Online Protection UPS หรือ Line Interactive UPS with Stabilizer

  3. ขนาดกำลังไฟฟ้า (VA) ที่อุปกรณ์ไฟฟ้าประเภทดังกล่าวใช้เป็นเท่าไร?
    • ขนาดกำลังไฟฟ้าที่อุปกรณ์ไฟฟ้าใช้ จะต้องไม่สูงกว่ากำลังไฟฟ้าที่ UPS สามารถจ่ายได้ เช่น คอมพิวเตอร์ และจอสี 17 นิ้ว ใช้กำลังไฟประมาณ 300 VA ดังนั้น ควรเลือกใช้ UPS ขนาดกำลังไฟ 300 VA ขึ้นไป

  4. ลักษณะการติดตั้งของอุปกรณ์ไฟฟ้าเป็นอย่างไร?
    • หากทำการติดตั้งอุปกรณ์ไฟฟ้าใกล้เคียงกันในพื้นที่ไม่กว้างนัก มีพื้นที่จำกัด ควรเลือกใช้ UPS ขนาดใหญ่เพื่อที่จะสามารถต่ออุปกรณ์ไฟฟ้าได้พร้อมกันหลายๆ เครื่อง เพื่อเป็นการประหยัดพื้นที่ และอำนวยความสะดวกในการปฏิบัติงาน
    • หากทำการติดตั้งของอุปกรณ์ไฟฟ้าห่างไกลกัน ควรเลือกใช้ UPS ขนาดเล็กต่ออุปกรณ์ไฟฟ้าแบบหนึ่งต่อหนึ่ง คือ นำอุปกรณ์ไฟฟ้าหนึ่งเครื่องต่อเข้ากับ UPS ขนาดเล็กหนึ่งเครื่อง

  5. ต้องการให้ UPS จ่ายพลังงานสำรองได้นานเท่าไร? (Backup Time)
    • โดยทั่วไป Backup Time จะมีความสัมพันธ์กับขนาดกำลังไฟฟ้าของ UPS และขนาดกำลังไฟฟ้าของอุปกรณ์ไฟฟ้า เช่น UPS ขนาด 350 - 500 VA ซึ่งใช้แบตเตอรี่ 7 Ah จะสามารถจ่ายไฟให้กับคอมพิวเตอร์ และจอสี 15 นิ้ว 1 จอ ได้นาน 15 - 30 นาที และหากเป็น UPS ที่ใช้แบตเตอรี่ชนิด High-Rate จะสามารถสำรองไฟฟ้าได้ 25 - 40 นาทีเลยทีเดียว (ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับอุปกรณ์ไฟฟ้าที่ใช้งาน)

  6. มีซอฟต์แวร์หรือไม่?
    • ซอฟต์แวร์สำหรับ UPS นี้มีไว้เพื่อตรวจสอบสภาวะทางไฟฟ้าและการทำงานของ UPS โดยการสื่อสารระหว่าง UPS กับคอมพิวเตอร์ จะมีสายข้อมูลเชื่อมต่อกัน โดยทั่วไป ผู้ใช้มักไม่ค่อยใส่ใจกับเรื่องซอฟต์แวร์พิเศษนี้ เพราะอาจจะไม่ทราบถึงประโยชน์ ดังนั้น จะขอยกตัวอย่าง เช่น กรณีเกิดไฟดับเป็นระยะเวลานานจนพลังงานไฟฟ้าในแบตเตอรี่ของ UPS หมด โดยที่ไม่สามารถ Shutdown คอมพิวเตอร์ได้ ถ้ามีซอฟต์แวร์พิเศษนี้จะช่วยบันทึกข้อมูลสำคัญไว้ (Auto Save) และทำการ Shutdown คอมพิวเตอร์ของคุณให้ก่อนที่แบตเตอรี่ของ UPS จะหมดลง

  7. ชื่อเสียงของบริษัทผู้ผลิตและการบริการหลังการขาย
    • ความมุ่งมั่นและระยะเวลาในการทำธุรกิจ จะเป็นเครื่องบ่งบอกถึงความจริงจังในการดำเนินธุรกิจของบริษัทนั้นๆ ได้เป็นอย่างดี บริษัทที่มีความตั้งใจอันแน่วแน่และมุ่งมั่นในการดำเนินธุรกิจใดๆ ย่อมจะต้องนำเสนอแต่สินค้าที่มีคุณภาพดี และให้บริการที่มีมาตรฐาน ตลอดจนมีการพัฒนาด้านคุณภาพสินค้า, ระบบการผลิต และการบริการอย่างไม่หยุดยั้ง เพื่อนำเสนอสิ่งที่ดีที่สุดให้แก่ลูกค้า

  8. มาตรฐานสากลที่บริษัทผู้ผลิตได้รับ และหน่วยงานที่ให้การรับรองมาตรฐานสากลนั้นๆ
    • เนื่องจากการได้รับมาตรฐานสากลไม่ใช่เป็นเรื่องที่จะได้มาโดยง่าย โดยเฉพาะสำหรับผู้ผลิตภายในประเทศที่สามารถทำให้หน่วยงานที่ให้การรับรองมาตรฐานในระดับนานาชาติยอมรับได้นั้น ผู้ผลิตจะต้องพัฒนาขีดความสามารถของตัวเองเป็นอย่างมาก เพื่อให้มีมาตรฐานเท่าเทียมกับบริษัทชั้นนำของโลก เช่น ลีโอนิคส์ ได้รับการรับรองมาตรฐานและรางวัลต่างๆ ดังนี้
      • การรับรองระบบบริหารงานคุณภาพ ISO 9001:2008 จาก UL หรือสถาบัน Underwriters Laboratories Inc., USA ซึ่งเป็นผู้ตรวจสอบระบบคุณภาพของบริษัทชั้นนำทั่วโลก เช่น NEC, MOTOROLA และ Hewlett Packard เป็นต้น
      • การรับรองระบบบริหารงานคุณภาพตามมาตรฐาน มอก./ISO 9001:2008 จาก MASCI (สถาบันรับรองมาตรฐานไอเอสโอ) และมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม มอก.1291-2545 จากสมอ. (สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม)
      • การรับรองระบบจัดการสิ่งแวดล้อม มอก./ISO 14001 จาก MASCI (สถาบันรับรองมาตรฐานไอเอสโอ)
      • การได้รับรางวัลอุตสาหกรรมดีเด่น ประจำปี 2542 (Prime Minister's Industry Award 1999) ประเภทการบริหารอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) จากกระทรวงอุตสาหกรรม
      • การได้รับ 3 รางวัลผู้ส่งออกไทยดีเด่น ประจำปี 2543 (Prime Minister's Export Award 2000) ประเภทรางวัลผู้ส่งออกไทยดีเด่น, ประเภทรางวัลผู้ส่งออกไทยดีเด่นที่มีการออกแบบสินค้าเป็นของตนเอง และประเภทรางวัลผู้ส่งออกไทยดีเด่นที่มีการใช้ชื่อการค้าของตนเอง

        จึงทำให้ลูกค้ามั่นใจได้ว่า ผลิตภัณฑ์จาก LEONICS ทุกเครื่อง จะมีคุณภาพที่ได้มาตรฐานระดับสากล และสามารถเชื่อมั่นได้ว่า คำสัญญาต่างๆ ตลอดจนคุณสมบัติของ UPS ที่บริษัทฯ อ้างถึงจะเป็นสิ่งที่เชื่อถือได้อย่างแน่นอน

  9. เงื่อนไขการรับประกัน
    • เรื่องของเงื่อนไขการรับประกัน มีความสำคัญไม่น้อยไปกว่าปัจจัยอื่นๆ เพราะนั่นหมายถึง ผู้ผลิตได้ให้ความคุ้มครองและดูแลผู้ใช้ผลิตภัณฑ์ของตนมากน้อยเพียงใด หากลองพิจารณา UPS ที่มีจำหน่ายในตลาด IT แต่ละยี่ห้อ จะมีระยะเวลารับประกันไม่เท่ากัน 1 ปี, 2 ปี หรือมากกว่านั้น เมื่อผู้ใช้พบปัญหาในการใช้งาน UPS ภายในระยะเวลารับประกัน สามารถส่งซ่อมยังศูนย์บริการได้
  10. ศูนย์บริการระดับมาตรฐาน
    • ในการเลือกซื้อ UPS นั้น ปัจจัยในด้านศูนย์บริการหลังการขาย ก็เป็นสิ่งที่มีความสำคัญ เพราะผู้ใช้จะสามารถวางใจได้ว่า UPS จะได้รับการบำรุงรักษา หรือแก้ปัญหาด้วยช่างผู้ชำนาญ พร้อมด้วยอุปกรณ์อะไหล่ที่ได้มาตรฐานจากบริษัทผู้ผลิต ลีโอนิคส์ ปรารถนาให้ UPS ของคุณสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพดังเดิม รวมถึงได้รับบริการและการดูแลอย่างทั่วถึง จึงมีศูนย์บริการ (LEONICS Service Centers) ระดับมาตรฐานกระจายอยู่ทั่วประเทศ เพื่อสร้างความสะดวกสบายให้กับลูกค้าที่จะใช้บริการของลีโอนิคส์

การคำนวณขนาดของ UPS
การคำนวณขนาดกำลังจ่ายของ UPS ที่เหมาะสมกับอุปกรณ์ไฟฟ้า ให้ปฏิบัติดังนี้

    1. ทำรายการอุปกรณ์ไฟฟ้าที่จะต่อพ่วงกับระบบ UPS ทั้งหมด เช่น คอมพิวเตอร์, จอ, โมเด็ม, สแกนเนอร์ และอุปกรณ์ที่จำเป็นอื่นๆ
    2. อุปกรณ์ไฟฟ้าแต่ละชนิดจะมีป้ายแสดงค่าพิกัดกำลัง (Nameplate) เพื่อระบุถึงแรงดันไฟฟ้า และกระแสไฟฟ้าที่ต้องการสำหรับใช้งาน โดยทั่วไปจะอยู่ที่ด้านหลังของเครื่อง
      • ให้คำนวณค่า VA โดยคูณค่า Volt และ Amps เข้าด้วยกัน
      • อุปกรณ์ไฟฟ้าบางชนิดอาจให้ค่ามาในรูปของพลังงานไฟฟ้าในหน่วยวัตต์ (Watt-W)
        ให้แปลงกลับเป็นค่า VA โดยการคูณค่าวัตต์ด้วย 1.4
    3. รวมค่า VA ของอุปกรณ์ไฟฟ้าทั้งหมดในรายการที่จะต่อพ่วงกับระบบ UPS
    4. เลือก UPS ที่จะสามารถจ่ายไฟได้พอเพียงต่อระดับค่า VA ของอุปกรณ์ไฟฟ้าทั้งหมด

ตัวอย่างการคำนวณ
ต้องการคำนวณขนาดของ UPS ที่สามารถใช้กับ คอมพิวเตอร์ ขนาด 220 V 1.5 A, เครื่องพิมพ์ Inkjet ขนาด 50 Watt และโมเด็ม ขนาด 20 Watt

จากสูตร   

จะได้ว่า

      • VA ของคอมพิวเตอร์ ขนาด 220 V 1.5 A = 220 x 1.5 = 330 VA
      • VA ของเครื่องพิมพ์ Inkjet ขนาด 50 Watt = 50 x 1.4 = 70 VA
      • VA ของโมเด็ม ขนาด 20 Watt = 20 x 1.4 = 28 VA
        VA รวม = 330 + 70 + 28 = 428 VA

    ดังนั้น

    ขนาดของ UPS ที่สามารถต่อพ่วงกับคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ดังกล่าวได้อย่างปลอดภัย คือ 428 VA ขึ้นไป (หรือตรงกับผลิตภัณฑ์ LEONICS UPS รุ่น GREEN, OA Extra 525, ACURA 525 และ ASTRA 525)

หมายเหตุ: โดยทั่วไปหากเลือก UPS ที่มีกำลัง VA เท่ากับค่า VA รวมของอุปกรณ์ไฟฟ้าที่จะนำไปต่อพ่วงทั้งหมด UPS จะจ่ายไฟที่ Full Load และจะทำการจ่ายพลังงานไฟฟ้าสำรองได้ประมาณ 5 นาทีเท่านั้น หากต้องการระยะเวลาการจ่ายพลังงานไฟฟ้าสำรองที่เพิ่มขึ้น ต้องขยายค่า VA ของ UPS หรือเพิ่มจำนวนแบตเตอรี่ให้มากขึ้น