ถาม-ตอบเกี่ยวกับระบบอนุรักษ์พลังงาน
 
 
 
กลับถาม-ตอบ
ก่อนการซื้อระบบผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ (Solar electrification system) ควรคำนึงถึงสิ่งใดบ้าง?
 

หากคุณกำลังตัดสินใจที่จะซื้อระบบผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์อยู่ สิ่งแรกที่ควรทำก็คือ ถามตัวเองก่อนว่า "ทำไมคุณจึงสนใจที่จะซื้อระบบผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์"
อาจมีหลายเหตุผลแตกต่างกันออกไป เช่น

  • ต้องการผลิตพลังงานสะอาดให้แก่สิ่งแวดล้อม
  • เป็นแหล่งพลังงานราคาถูก
  • ต้องการสำรองไฟฟ้าไว้ใช้ในเวลาที่ไฟฟ้าจากระบบสายส่งการไฟฟ้าดับ
  • ไม่ต้องการพึ่งพาอาศัยไฟฟ้าจากระบบสายส่งของการไฟฟ้าเพียงอย่างเดียว

นอกจากนี้ยังมีข้อมูลอื่นๆ ประกอบการพิจารณาอีก เช่น ปริมาณพลังงานที่ต้องการ, ค่าใช้จ่ายในการติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์, สถานที่ดีที่สุดในการติดตั้งแผงเซลล์แสงอาทิตย์ ตลอดจนการรับประกัน, การบริการและการดูแลรักษา ซึ่งเหล่านี้ คุณสามารถขอคำแนะนำได้จากบริษัทจำหน่ายระบบไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ใกล้บ้านคุณ

 

บนสุด
สถานที่ลักษณะใดบ้างที่สามารถนำระบบผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ไปใช้งานได้?
 

ระบบผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์นำมาใช้งานได้ใน 2 ลักษณะด้วยกัน

  1. ในพื้นที่ที่มีบริการไฟฟ้าของการไฟฟ้าอยู่แล้ว แต่ต้องการใช้ระบบผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ (เช่น เพื่อลดการใช้ไฟฟ้าจากระบบสายส่งฯ, ผลิตไฟฟ้าที่เป็นพลังงานสะอาดหรือสำรองไฟฟ้าไว้ใช้ ฯลฯ)
  2. ในพื้นที่ห่างไกลที่ยังไม่มีไฟฟ้าจากระบบสายส่งหรือบริการของการไฟฟ้าและมีความจำเป็นต้องใช้ไฟฟ้า (เช่น เพื่อใช้กับเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้านพักอาศัย ฯลฯ)

 

บนสุด
ต้องมีค่าใช้จ่ายเท่าไรในการใช้งานระบบผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ (Solar electrification system)?
 

การใช้งานระบบผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ใน 2 ลักษณะที่กล่าวไว้แล้วข้างต้น มีจุดมุ่งหมายนานาประการ รวมถึงประโยชน์และความคุ้มค่าก็แตกต่างกันออกไปด้วย

  1. ในพื้นที่ที่มีบริการไฟฟ้าของการไฟฟ้าอยู่แล้ว ระบบที่ให้ประโยชน์สูงสุดและนิยมใช้มากเรียกว่า "ระบบผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์แบบต่อเชื่อมสายส่ง" (Grid connected หรือ Grid tie solar energy system) ซึ่งใช้แพร่หลายในยุโรปและญี่ปุ่น ระบบนี้จะให้ผลคุ้มค่าการลงทุนในระยะเวลาสั้นๆ ก็ต่อเมื่อรัฐบาลมีโครงการสนับสนุนอย่างเช่นในยุโรป เป็นต้น
    สำหรับประเทศไทยขณะนี้รัฐบาลยังไม่มีนโยบายให้การสนับสนุนเรื่องนี้แต่อย่างใด ดังนั้น คุณที่สนใจจะติดตั้งระบบดังกล่าว จะต้องเสียค่าใช้จ่ายโดยไม่มีเงินคืนใดๆ ระบบผลิตไฟฟ้าขนาด 3 kW จะมีค่าใช้จ่ายประมาณ 750,000 บาท - 900,000 บาท และคุณสามารถผลิตไฟฟ้าได้ประมาณ 10-15 kWh/วัน ซึ่งเมื่อคำนวณค่าไฟฟ้าปัจจุบันจะมีระยะเวลาการคืนทุนที่นานมาก
    ในกรณีที่คุณต้องการผลิตพลังงานสะอาดเพื่อช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่บรรยากาศและสมัครใจจะติดตั้งระบบ บริษัทฯ ก็มีความยินดีที่จะบริการตามวัตถุประสงค์ของคุณ
  2. พื้นที่ที่ยังไม่มีไฟฟ้าจากระบบสายส่งหรือบริการของการไฟฟ้า ระบบผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ที่ใช้งานในรูปแบบนี้เรียกว่า "ระบบผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์แบบติดตั้งอิสระ" (Stand-alone solar energy system) การพิจารณาใช้ระบบผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์นี้เป็นทางเลือกที่ได้รับการยอมรับว่าให้ผลคุ้มค่าการลงทุนในระยะยาวและเป็นผลดีต่อสิ่งแวดล้อมอีกด้วย เมื่อเปรียบเทียบกับเครื่องกำเนิดไฟฟ้าแบบดีเซล (Diesel generator) แต่มีการลงทุนที่สูงกว่าในเบื้องต้น ระบบผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ที่เรานำเสนอในเว็บไซต์ของบริษัทฯ ก็เป็นระบบที่ใช้งานลักษณะนี้

บริษัทฯ ขอแนะนำว่าไม่ควรใช้ "ระบบผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์แบบติดตั้งอิสระ" กับบ้านพักอาศัยที่มีบริการของการไฟฟ้าอยู่แล้ว เพราะจะทำให้ผู้ใช้มีการลงทุนที่สูงเกินความจำเป็นและมิได้เป็นการใช้งานเซลล์แสงอาทิตย์อย่างมีประสิทธิภาพ
หากคุณมีความต้องการที่จะใช้ระบบผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์เพื่อการสำรองพลังงานไฟฟ้าไว้ใช้เมื่อไฟฟ้าดับเพียงเท่านั้น บริษัทฯ ขอแนะนำแนวทางอื่นที่เหมาะสมและให้ผลคุ้มค่าการลงทุนมากกว่าให้กับคุณ

 

บนสุด
ในเวลาที่ไม่มีแสงอาทิตย์ ระบบพลังงานแสงอาทิตย์สามารถใช้งานได้หรือไม่?
 

เนื่องจากระบบพลังงานแสงอาทิตย์ สามารถผลิตพลังงานไฟฟ้าได้ในช่วงเวลากลางวัน แต่ในเวลากลางคืน (หรือเวลาที่ไม่มีแสงอาทิตย์) จะไม่มีการผลิตพลังงานไฟฟ้า ดังนั้น ถ้าเป็นระบบพลังงานแสงอาทิตย์แบบอิสระ (Stand-alone system) ที่มีการประจุพลังงานไฟฟ้าเข้าสู่แบตเตอรี่ ก็จะนำพลังงานไฟฟ้าจากแบตเตอรี่มาใช้ และถ้าเป็นระบบพลังงานแสงอาทิตย์แบบต่อเชื่อมกับสายส่งการไฟฟ้า (Grid connected system) ก็จะใช้พลังงานที่ผลิตได้จากแผงเซลล์แสงอาทิตย์ในเวลากลางวัน ส่วนเวลากลางคืนก็ใช้พลังงานไฟฟ้าจากสายส่งการไฟฟ้า ถ้าต้องการนำพลังงานไฟฟ้าจากเซลล์แสงอาทิตย์มาใช้ในเวลากลางคืนด้วยก็ต้องมีแบตเตอรี่เพิ่มเข้ามาด้วย

 

บนสุด
อธิบายถึงเหตุผลที่จำเป็นต้องมีระบบพลังงานแสงอาทิตย์ไว้ใช้?
 

ระบบพลังงานแสงอาทิตย์ที่สามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้ จัดได้ว่าเป็นการนำพลังงานฟรีมาใช้ เป็นแหล่งพลังงานที่ไม่มีวันหมด และยังเป็นพลังงานสะอาดไม่ก่อให้เกิดมลพิษ เหตุผลที่ใช้ในการพิจารณานำระบบพลังงานแสงอาทิตย์ไปใช้ มีดังนี้

  • ไม่มีไฟฟ้าใช้ เนื่องจากสายส่งการไฟฟ้าเข้าไม่ถึง และมีความต้องการใช้ไฟฟ้า สามารถเลือกใช้ระบบพลังงานแสงอาทิตย์เพื่อบ้านพักอาศัยได้
  • มีการใช้ไฟฟ้าจากสายส่งการไฟฟ้าแล้ว แต่ต้องการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาด บริสุทธิ์ใช้เอง สามารถเลือกใช้ระบบพลังงานแสงอาทิตย์ชนิดต่อเชื่อมระบบสายส่งได้
  • มีการใช้ไฟฟ้าจากสายส่งการไฟฟ้าแล้ว แต่ต้องการมีไฟฟ้าสำรองไว้ใช้ขณะที่สายส่งการไฟฟ้าเกิดมีปัญหา เช่น ไฟฟ้าดับ และไฟตก เป็นต้น
บนสุด
จะปลอดภัยไหม ถ้ามีระบบพลังงานแสงอาทิตย์ติดตั้งอยู่ภายในบริเวณบ้าน?
 

ปลอดภัยอย่างแน่นอน เพราะระบบพลังงานแสงอาทิตย์เป็นการนำพลังงานแสงอาทิตย์มาทดแทนพลังงานในรูปแบบอื่นๆ ซึ่งระบบพลังงานแสงอาทิตย์ได้ชื่อว่า "เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม" เนื่องจากไม่ก่อให้เกิดมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม และไม่มีการแผ่รังสีหรือขับกากพิษใดๆ ออกมา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถ้าระบบพลังงานแสงอาทิตย์ประกอบไปด้วยอุปกรณ์ที่ได้มาตรฐาน รวมถึงได้รับการติดตั้งอย่างถูกต้องจากผู้เชี่ยวชาญ ไม่ว่าจะติดตั้งระบบพลังงานแสงอาทิตย์ไว้ในสถานที่ใด ก็ปลอดภัยทั้งสิ้น หากคุณต้องการติดตั้งระบบพลังงานแสงอาทิตย์ สามารถติดต่อสอบถามไปยังบริษัทผู้ผลิตหรือจำหน่ายระบบพลังงานแสงอาทิตย์โดยตรง หรือคลิกไปดูรายละเอียดได้ที่สินค้าและบริการของลีโอนิคส์

 

บนสุด
ระบบพลังงานแสงอาทิตย์ใช้งานยากไหม?
 

การใช้งานระบบพลังงานแสงอาทิตย์ไม่ยากอย่างที่คิด ถึงแม้กระบวนการผลิตเซลล์แสงอาทิตย์จะต้องใช้เทคโนโลยีขั้นสูง แต่การใช้งานนั้นง่ายๆ ไม่ซับซ้อน แผงเซลล์แสงอาทิตย์เป็นอุปกรณ์ที่ผลิตไฟฟ้ากระแสตรงแรงดันต่ำ มีอุปกรณ์น้อยชิ้น (หรือไม่มีเลย) ที่มีการเคลื่อนไหว หลังจากทำการติดตั้งแล้ว ก็ต้องการการดูแลรักษาเป็นระยะๆ เท่านั้น สำหรับระบบพลังงานแสงอาทิตย์ที่มีอุปกรณ์อื่นๆ เพิ่มเติม ก็ดูแลรักษาไปตามความต้องการเฉพาะของอุปกรณ์นั้นๆ เช่น แบตเตอรี่ที่ใช้เก็บพลังงานไฟฟ้า ก็ต้องคอยหมั่นเติมน้ำกลั่นและทำความสะอาดขั้วแบตเตอรี่ เป็นต้น

 

บนสุด
หากต้องนำระบบเซลล์แสงอาทิตย์ไปใช้กับอุปกรณ์ไฟฟ้าภายในบ้านหรือสำนักงาน จะประกอบด้วยอะไรบ้าง?
 

ในการติดตั้งระบบเซลล์แสงอาทิตย์นั้น ผู้ที่ต้องการใช้ไฟฟ้าที่ผลิตจากระบบเซลล์แสงอาทิตย์จะต้องรู้ความต้องการใช้ไฟฟ้าในสถานที่ติดตั้งในแต่ละวัน จึงจะสามารถคำนวณส่วนประกอบของระบบได้ การใช้ไฟฟ้าเท่าไรดูได้จากอุปกรณ์ไฟฟ้าที่จะใช้ว่ามีอะไรบ้าง แต่ละชนิดใช้พลังงานเท่าใด ต้องการเปิดใช้งานนานกี่ชั่วโมง/วัน รวมถึงในกรณีที่แผงเซลล์แสงอาทิตย์ไม่สามารถผลิตพลังงานไฟฟ้าได้ ต้องการให้มีปริมาณพลังงานสำรองใช้ได้จากแบตเตอรี่นานเท่าใด

บ้านหลังหนึ่งต้องการนำไฟฟ้าที่ผลิตได้จากเซลล์แสงอาทิตย์ไปใช้กับหลอดไฟฟลูออเรสเซนต์ชนิดมีบัลลาสต์อิเลคทรอนิกส์ในตัว จำนวน 3 ดวง (36 W X 3) เป็นเวลา 3 ชั่วโมงต่อวัน, โทรทัศน์สี 21 นิ้ว (120 W) ประมาณ 4 ชั่วโมงต่อวัน

สิ่งที่ต้องใช้ในระบบเซลล์แสงอาทิตย์ประกอบด้วย

  • เซลล์แสงอาทิตย์
  • เครื่องควบคุมการประจุกระแสไฟฟ้า (Charge Controller)
  • แบตเตอรี่ (Battery)
  • เครื่องแปลงกระแสไฟฟ้า (Inverter)

การคำนวณหาขนาดของเครื่อง

  1. เครื่องแปลงกระแสไฟฟ้า (Inverter)
    ควรมีขนาดใหญ่พอที่จะจ่ายไฟฟ้าให้แก่อุปกรณ์ต่างๆ ได้เท่าๆ กัน (กรณีที่เราไม่สามารถทราบช่วงเวลาที่จะใช้อุปกรณ์ไฟฟ้าต่างๆ) จะได้
  2.   = (36 W X 3 ดวง) + (120 W) = 228 W

ขนาดของเครื่องแปลงกระแสไฟฟ้า ควรมีขนาด 228 Watt หรือมากกว่าขึ้นอยู่กับขนาดของเครื่องที่ขายในท้องตลาด สำหรับผลิตภัณฑ์ LEONICS มี APOLLO S-102A ขนาด 360 Watt ซึ่งใช้กับแบตเตอรี่ขนาด 12 โวลต์

  1. แบตเตอรี่ (Battery)
    จะต้องใช้แบตเตอรี่ชนิด Deep Cycle เพื่อให้เหมาะสมกับการใช้งานในระบบเซลล์แสงอาทิตย์ ขนาดของแบตเตอรี่สามารถคำนวณได้จาก
  2. Ah = ค่าการใช้พลังงานรวม / [แรงดันไฟฟ้าแบตเตอรี่ X 0.6 (% การใช้งานกระแสไฟฟ้าที่อยู่ในแบตเตอรี่) X 0.85 (ประสิทธิภาพของ Inverter)]
      = {(36 W X 3 ดวง) X 3 ชั่วโมง} + {(120 W) X 4 ชั่วโมง} / [12 โวลต์ X 0.6 X 0.85]
      = 131.4 Ah

ขนาดของแบตเตอรี่ที่ควรใช้เป็นขนาด 12 โวลต์ 131.4 Ah หรือมากกว่า สำหรับผลิตภัณฑ์ LEONICS มีแบตเตอรี่ชนิด Deep Cycle รุ่น SOLARCON BD 205 12 โวลต์ 205 Ah

  1. เครื่องควบคุมการประจุกระแสไฟฟ้า (Charge Controller)
    จะต้องมีขนาดเท่ากับหรือมากกว่ากระแสไฟฟ้า (Amp) ที่ไหลผ่านสู่แบตเตอรี่และไม่เกิน 0.1 เท่าของ Ah ของแบตเตอรี่ ดังนั้น
    ขนาดของเครื่องควบคุมการประจุกระแสไฟฟ้า ควรมีขนาดไม่เกิน 12 โวลต์ 13.14 A สำหรับผลิตภัณฑ์ LEONICS มีให้เลือก 2 รุ่น คือ SOLARCON SE-1210 และ SOLARCON SE-1210T

  2. เซลล์แสงอาทิตย์
      = ค่าการใช้พลังงานรวม / 5.5 ชั่วโมง (ปริมาณแสงอาทิตย์ที่ได้ใน 1 วัน)
      = {(36 W X 3 ดวง) X 3 ชั่วโมง} + {(120 W) X 4 ชั่วโมง} / 5.5 ชั่วโมง
      = 146.18 Ah

ดังนั้น ขนาดของเซลล์แสงอาทิตย์ที่ต้องใช้ คือ ขนาด 12 โวลต์ 146.18 วัตต์หรือมากกว่า สำหรับผลิตภัณฑ์ LEONICS มีแผงเซลล์แสงอาทิตย์ Solarmax รุ่น LEC-5048 ขนาด 12 โวลต์ 50 วัตต์ เมื่อนำจำนวน 4 แผงมาต่อแบบขนาน จะได้ 12 โวลต์ 200 วัตต์

หมายเหตุ: หากต้องการมีพลังงานสำรองไว้ใช้ในกรณีที่แผงเซลล์แสงอาทิตย์ไม่สามารถผลิตพลังงานไฟฟ้าได้ทัน เช่น เวลาที่ฝนตกหรือไม่มีแสงอาทิตย์ ก็จะต้องเพิ่มขนาดของแบตเตอรี่เพื่อใช้ในการเก็บพลังงานสำรอง
บนสุด