เรื่องของพลังงาน

 


ตอน พลังงานหมุนเวียน VS พลังงานสิ้นเปลือง

     

สำหรับใครหลายคน การบริโภคพลังงานในวันหนึ่งๆ อาจไม่ได้คำนึงถึงเลยว่าใช้พลังงานอะไรไปบ้างและมากน้อยเพียงใด แล้วคุณเป็นหนึ่งในกลุ่มคนเหล่านั้นหรือไม่? การได้ติดตาม "เส้นทางสู่พลังงานสีเขียว" จะทำให้คุณได้ความรู้เกี่ยวกับพลังงานต่างๆ ซึ่งเรา (แอบ) หวังไว้ว่าอาจส่งผลให้เกิดการใช้พลังงานอย่างรู้คุณค่าไม่มากก็น้อย

พลังงานถูกนำมาใช้เพื่อเติมเต็มให้กับชีวิตมนุษย์ การดำรงชีพต้องใช้พลังงานทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็น ภายในบ้านพักอาศัย อาคาร ร้านค้า โรงงาน รวมถึงการเดินทาง ยิ่งนานวันความต้องการพลังงานทวีมากขึ้น นั่นหมายถึงพลังงานจะถูกนำมาจากแหล่งต่างๆ เพื่อตอบสนองการใช้พลังงาน ทั้งพลังงานจากดวงอาทิตย์และพลังงานจากภายในโลกของเราเอง พลังงานทั้งมวลที่มีอยู่ถูกจำแนกออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ ตามแหล่งที่มา ซึ่งเราจะพาไปรู้จักกัน...

พลังงานหมุนเวียน (Renewable energy)
คือ แหล่งพลังงานที่ได้จากธรรมชาติรอบตัวเรา หามาใช้ได้ไม่มีวันหมด ซึ่งสามารถสร้างทดแทนได้ในช่วงเวลาสั้นๆ โดยธรรมชาติหลังจากมีการใช้ไป จึงมีหลายชื่อที่ใช้เรียก - พลังงานทดแทนและพลังงานใช้ไม่หมด รวมถึงพลังงานสะอาดและพลังงานสีเขียว เนื่องจากไม่ทำให้เกิดมลพิษต่อสิ่งแวดล้อมนั่นเอง
ตัวอย่างของพลังงาน ได้แก่ พลังงานแสงอาทิตย์, พลังงานลม, พลังน้ำ, พลังงานคลื่นในทะเล, พลังงานน้ำขึ้นน้ำลง, พลังงานชีวมวล, พลังงานความร้อนใต้พิภพและพลังงานไฮโดรเจน ฯลฯ

พลังงานสิ้นเปลือง (Nonrenewable energy)
คือ แหล่งพลังงานจากใต้พื้นดิน เมื่อใช้หมดแล้วไม่สามารถสร้างขึ้นมาใหม่หรือหามาทดแทนโดยธรรมชาติได้ทันความต้องการในเวลาอันรวดเร็ว ต้องใช้เวลานานกว่าร้อยล้านปีที่จะสร้างขึ้นมาอีกได้และมีปริมาณจำกัด ชื่อที่ใช้แทนพลังงานกลุ่มนี้จึงมีทั้งพลังงานฟอสซิลและพลังงานที่ใช้แล้วหมด
ตัวอย่างของพลังงาน ได้แก่ น้ำมันดิบ (ปิโตรเลียม), ถ่านหิน, ก๊าซธรรมชาติและพลังงานนิวเคลียร์ (แร่ยูเรเนียม) ฯลฯ

พลังงานที่ใช้กันอยู่ทุกวันนี้ส่วนมากนำมาจากแหล่งพลังงานสิ้นเปลือง เช่น เชื้อเพลิงฟอสซิลจำพวกน้ำมันดิบ ถ่านหินและก๊าซธรรมชาติ คุณเคยสงสัยไหม ทำไมเรียก "เชื้อเพลิงฟอสซิล" คำตอบก็คือ เชื้อเพลิงนี้เกิดขึ้นจากซากพืชซากสัตว์ที่ตายมานานนับล้านปี ทับถมอยู่ใต้ดินจนเปลี่ยนเป็นฟอสซิล จากนั้นเปลี่ยนแปลงตามธรรมชาติกลายเป็นน้ำมันดิบ ถ่านหินและก๊าซธรรมชาติ แต่ปัญหาคือไม่สามารถหามาทดแทนการใช้ได้ทัน โลกเราต้องใช้เวลานานเป็นล้านปีกว่าจะผลิตน้ำมันแต่ละลิตรได้ นอกจากนี้ยังก่อให้เกิดมลพิษต่อสิ่งแวดล้อมด้วย เพราะการเผาไหม้ของเชื้อเพลิงจะได้ก๊าซพิษออกมาด้วย เช่น ฝุ่นละออง, เขม่าควัน, ไนโตรเจน, คาร์บอนมอนอกไซด์, คาร์บอนไดออกไซด์และกำมะถันไดออกไซด์ ฯลฯ
แล้วทำไมเราไม่นำพลังงานหมุนเวียนมาใช้ จะได้ไม่เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม... การนำพลังงานหมุนเวียนมาใช้ต้องประสบปัญหาข้อจำกัดตามธรรมชาติที่ว่า พลังงาน (บางชนิด) มีอยู่มากก็จริง ทว่าไม่สามารถนำมาใช้ได้ทุกเวลาและไม่เพียงพอ เช่น ถ้าท้องฟ้ามืดครึ้มจะไม่มีแสงอาทิตย์ ถ้าลมสงบจะไม่มีลมไปหมุนกังหัน หรือถ้าระดับน้ำในเขื่อนไม่เพียงพอก็ผลิตไฟฟ้าไม่ได้ แต่มนุษย์ก็ไม่ยอมแพ้ต่อธรรมชาติเพียงแค่นั้น มีการรู้จักเก็บพลังงานไว้หรือเพิ่มการผลิตให้มากขึ้นเพื่อนำพลังงานไปใช้ต่อไป และนั่นทำให้มีค่าใช้จ่ายเพิ่มมากขึ้น หากเทียบกันแล้วการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลจะถูกกว่า จะเห็นได้ว่าพลังงานหมุนเวียนอาจใช้แก้ปัญหาพลังงานไม่ได้ทั้งหมด แต่เป็นอีกหนึ่งทางเลือกจากธรรมชาติที่มีคุณค่า ช่วยลดผลกระทบที่มีต่อสิ่งแวดล้อมได้เป็นอย่างดี

ทีนี้คุณลองเปรียบเทียบดูว่า การนำพลังงานสีเขียวจากแหล่งธรรมชาติมาใช้การผลิตไฟฟ้า จะมีค่าใช้จ่ายแตกต่างจากการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลมากน้อยเพียงใด... ต้นทุนการผลิตไฟฟ้าของโรงไฟฟ้าโดยใช้เชื้อเพลิงต่างๆ เป็นดังนี้ ถ่านหิน = 0.50 บาท/หน่วย1, ก๊าซธรรมชาติ = 0.93 บาท/หน่วย1, น้ำมันเตา = 1.10 บาท/หน่วย1, ดีเซล = 2.72 บาท/หน่วย1, พลังงานแสงอาทิตย์ = 11.46 บาท/หน่วย2, พลังงานลม = เป็น 2.84 บาท/หน่วย2, พลังงานชีวมวล = 2.27 บาท/หน่วย2, ก๊าซชีวภาพจากอุตสาหกรรมแปรรูปการเกษตร = 1.91 บาท/หน่วย2, น้ำเสีย = 1.3-1.6 บาท/หน่วย2 และขยะชุมชน = 2.23 บาท/หน่วย2 (1 หน่วย = 1 กิโลวัตต์-ชั่วโมง)


ถัดจากนี้ไปเป็นตัวอย่างที่น่าสนใจมากในเรื่อง "ข้อดี-ข้อเสีย" ของพลังงานจากทั้งสองแหล่ง เรานำมาให้ประกอบการพิจารณาว่า "ควรใช้พลังงานจากแหล่งใด"

แหล่งพลังงาน ข้อดี ข้อเสีย
พลังงานหมุนเวียน
  • สามารถหาได้ง่าย ไม่ว่าจะอยู่ที่ใดบนโลก
  • สามารถผลิตพลังงานได้ตลอดเวลา เช่น พลังงานความร้อนใต้พิภพ
  • ใช้ไม่มีวันหมด
  • เป็นแหล่งพลังงานที่ได้มาฟรี
  • นำมาผลิตไฟฟ้าได้ในราคาถูก เช่น พลังน้ำ
  • มีความเสถียรในเรื่องราคาพลังงาน
  • เป็นพลังงานสะอาด ไม่สร้างมลพิษทางอากาศ, น้ำและไม่เกิดขยะของเสีย
  • พบได้เฉพาะบางพื้นที่เท่านั้น เช่น พลังงานความร้อนใต้พิภพ
  • ไม่สามารถผลิตพลังงานได้อย่างต่อเนื่อง
  • ต้นทุนในตอนเริ่มต้นสูง
  • ต้องมีการเก็บพลังงานไว้ ซึ่งไม่คุ้มค่าเชิงพาณิชย์
  • ต้องใช้พื้นที่มากในการติดตั้ง
  • อาจเป็นสาเหตุของมลพิษทางอากาศ เช่น พลังงานความร้อนใต้พิภพ
  • อาจทำให้โลกร้อนขึ้นได้ เช่น การเผาไหม้ของพลังงานชีวมวล
  • เกิดมลพิษทางเสียง เช่น พลังงานลม
  • อาจทำลายระบบนิเวศน์และส่งผลต่อการอพยพย้ายถิ่นฐานของสิ่งมีชีวิต
พลังงานสิ้นเปลือง
  • ไม่ขึ้นอยู่กับช่วงเวลาของวัน, สภาพอากาศหรือฤดูกาลก็ได้พลังงานต่อเนื่อง
  • นำมาผลิตไฟฟ้าได้ในราคาถูกและคุ้มค่าเชิงพาณิชย์
  • นำมาผลิตไฟฟ้าจะได้พลังงานต่อหน่วยน้ำหนักจำนวนมาก
  • พลังงานนิวเคลียร์ใช้เชื้อเพลิงเพียงเล็กน้อยก็ผลิตไฟฟ้าได้จำนวนมาก
  • พลังงานนิวเคลียร์สร้างมลพิษทางอากาศเพียงเล็กน้อย และไม่สร้าง CO2
  • สามารถหาได้เฉพาะบางพื้นที่เท่านั้น
  • เป็นแหล่งพลังงานที่มีจำกัด
  • ไม่มีความเสถียรในเรื่องราคาพลังงาน
  • การเผาไหม้ของเชื้อเพลิงฟอสซิลทำให้เกิดมลพิษมากมาย รวมถึงเกิดปฏิกิริยาเรือนกระจก, โลกร้อนขึ้นและเกิดฝนกรด ฯลฯ
  • พลังงานนิวเคลียร์ ทำให้เกิดของเสียที่เป็นพิษสูงและขนส่งอย่างปลอดภัยทำได้ยาก
  • การขุดหรือระเบิดถ่านหินหรือแร่ยูเรเนียม และน้ำมันรั่วจาการขุดเจาะ ส่งผลกระทบรุนแรงต่อสิ่งแวดล้อม

เนื่องจากมนุษย์ใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลเป็นสัดส่วนที่สูงมาก ซึ่งพลังงานนี้ใช้แล้วมีแต่จะหมดไป ดังนั้น การใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพจึงเป็นวิธีที่ควรทำ ทรัพยากรที่มีอยู่ก็จะสามารถใช้ได้อย่างพอเพียงและให้ชนรุ่นหลังมีโอกาสได้รับประโยชน์ด้วย และในฉบับต่อไปคุณจะได้พบกับพลังงานสีเขียวจากธรรมชาติที่มาจากภายในโลกของเรานี้เอง

1ที่มา: ข้อมูลจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย
2ที่มา: ข้อมูลจากมูลนิธิพลังงานเพื่อสิ่งแวดล้อม