เรื่องของพลังงาน

 


ตอน พลังงานหมุนเวียนนอกโลกจากดวงอาทิตย์ทางอ้อม

     

จุดหมายต่อไปของเส้นทางสู่พลังงานสีเขียว คือ พลังงานหมุนเวียนจากนอกโลก ซึ่งเป็นพลังงานที่รับมาจากดวงอาทิตย์ ได้เคยพูดถึงไปแล้วว่าพลังงานมีทั้งที่เป็นผลจากดวงอาทิตย์ทางตรงและทางอ้อม เราจะมาเริ่มด้วยพลังงานอันเป็นผลทางอ้อมจากดวงอาทิตย์กันก่อน

แรงลมนำมาใช้ได้ไม่มีวันหมด
พลังงานลม (Wind energy)
พลังงานลมที่ถูกนำมาใช้ผลิตแรงกลหรือไฟฟ้าต้องอาศัยกังหันลม (Wind turbine) ทำการแปลงพลังงานจลน์ในแรงลมให้เป็นแรงกลใช้ในงานต่างๆ หรือเครื่องกำเนิดไฟฟ้าที่เปลี่ยนรูปแรงกลให้เป็นไฟฟ้า การทำงานของกังหันลม คือ ใช้แรงลมหมุนใบพัด ซึ่งจะไปหมุนก้านที่ต่ออยู่กับเครื่องกำเนิดไฟฟ้าและผลิตไฟฟ้าได้ กังหันลมมีหลายชนิด แต่กังหันลมแบบสมัยใหม่ที่ใช้ในปัจจุบัน แบ่งออกเป็น 2 ชนิด คือ กังหันแบบ Horizontal axis เป็นที่นิยมใช้มากที่สุดและกังหันลมแบบ Vertical axis

การใช้ประโยชน์จากกังหันลมทำได้มากมาย เช่น การใช้งานแบบติดตั้งอิสระ (Stand-alone applications) ในด้านโทรคมนาคม, สูบน้ำ, ประจุแบตเตอรี่, บ้านพักอาศัยและหมู่บ้านที่อยู่ห่างไกล ฯลฯ มีขนาดการผลิตต่ำกว่า 50 kW ในการผลิตไฟฟ้าที่ขนาดการผลิตตั้งแต่ 50 kW ขึ้นไปจะใช้กังหันลมขนาดใหญ่หลายตัวรวมกันเป็นทุ่งกังหันลมเพื่อผลิตไฟฟ้าให้กับสายส่งการไฟฟ้า นอกจากนี้ยังใช้ในลักษณะผสมผสานร่วมกับเครื่องกำเนิดไฟฟ้าดีเซล, แบตเตอรี่ หรือแผงเซลล์แสงอาทิตย์ได้อีกด้วย



กระแสน้ำนำมาใช้ผลิตไฟฟ้า
พลังน้ำ (Hydro energy)
พลังน้ำสร้างประโยชน์มหาศาลในการให้กำลังแก่เครื่องจักรหรือผลิตไฟฟ้า โดยกระแสน้ำมีพลังงานจลน์ที่สามารถนำไปหมุนกังหันน้ำ (Hydro turbine) ซึ่งถ้าต่ออยู่กับเครื่องกำเนิดไฟฟ้าก็จะแปลงพลังงานเป็นไฟฟ้า

การสร้างโรงผลิตไฟฟ้าพลังน้ำส่วนใหญ่ต้องสร้างเขื่อนกั้นลำน้ำเพื่อกักเก็บน้ำไว้และปล่อยให้ไหลผ่านท่อขนาดใหญ่ไปยังที่ตั้งกังหันน้ำ แรงดันจากน้ำที่ตกลงมาจะไปหมุนกังหันที่ต่อกับเครื่องกำเนิดไฟฟ้าขนาดใหญ่เพื่อทำการผลิตไฟฟ้า

โรงไฟฟ้าพลังน้ำมีตั้งแต่ขนาดเล็กมาก กำลังการผลิตต่ำกว่า 100 kW, ขนาดเล็ก กำลังการผลิต 100 kW- 30 MW เพื่อผลิตไฟฟ้าใช้ภายในครัวเรือน, หมู่บ้าน, ฟาร์ม หรือขายคืนให้สายส่งการไฟฟ้า (ซึ่งกำลังการผลิต 10 kW ถือว่าเพียงพอสำหรับบ้านขนาดใหญ่ 1 หลังแล้ว) ไปจนถึงขนาดใหญ่ กำลังการผลิตมากกว่า 30 MW เพื่อเป็นแหล่งจ่ายไฟฟ้าให้กับภาคธุรกิจและอุตสาหกรรม1



วัตถุดิบเหลือใช้จากการเกษตรกลายเป็นพลังงานมากมาย
พลังงานชีวมวล (Biomass energy หรือ Bioenergy)
ชีวมวลที่นำมาผลิตพลังงานได้มาจากสิ่งมีชีวิต เช่น ผลิตผลทางการเกษตร สิ่งที่เหลือทิ้งจากการเกษตรและของเสียจากโรงงานแปรรูปทางการเกษตร ซึ่งมีทั้งแกลบ ซัง-เปลือกข้าวโพด กากอ้อย ไม้ฟืน เศษไม้และมูลสัตว์ ฯลฯ

ชีวมวลสามารถนำมาแปลงรูปเป็นน้ำมันเชื้อเพลิงได้โดยตรง ผลผลิตที่สำคัญคือ น้ำมันเชื้อเพลิงชีวภาพ (Biofuel) ผลิตได้จากน้ำมันถั่วเหลือง น้ำมัน-ไขมันจากสัตว์ น้ำมันเหลือใช้จากการปรุงอาหาร ฯลฯ ผ่านกรรมวิธีเปลี่ยนให?เป?นเอสเธอร? โดยน้ำมันจะถูกกรองและผสมให้ทำปฏิกิริยากับแอลกอฮอล์ มีตัวเร่ง (Catalyst) เพื่อเปลี่ยนเป็นเอทธิลหรือเมทธิลเอสเตอร์ นำไปเป็นเชื้อเพลิงในยานพาหนะ, เซลล์กำเนิดไฟฟ้าและเป็นเชื้อเพลิงให้กับหม้อต้ม (Boiler) เพื่อผลิตไฟฟ้าหรือให้ความร้อนแก่อาคาร
การผลิตไฟฟ้าพลังงานชีวมวล (Biopower) โรงไฟฟ้ามีการใช้เทคโนโลยีต่างๆ เช่น Direct-combustion เป็นการเผาชีวมวลพวกวัตถุดิบหมุนเวียนในหม้อต้มให้กลายเป็นไอเพื่อไปหมุนกังหันที่ต่อกับเครื่องกำเนิดไฟฟ้า, Cofiring นำวัตถุดิบหมุนเวียนหรือหญ้าผสมกับถ่านหินและเผาในหม้อต้ม, Gasification เศษไม้ วัตถุดิบหมุนเวียนถูกเปลี่ยนรูปให้เป็นก๊าซชีวภาพ (Biogas) ที่อุณหภูมิสูงในสภาวะไร้ออกซิเจน ใช้เป็นเชื้อเพลิงให้แก่กังหันเพื่อหมุนเครื่องกำเนิดไฟฟ้า หรือนำกระดาษ ขี้เลื่อย ซากและของเสียจากสัตว์หรืออื่นๆ ฝังในหลุมและหมักทิ้งไว้ให้คายก๊าซมีเธน ใช้เป็นเชื้อเพลิงให้กับหม้อต้ม นอกจากนี้ยังนำมาเผาในหม้อต้มให้กลายเป็นไอเพื่อผลิตไฟฟ้า และ Anaerobic digestion จะใช้แบคทีเรียในการย่อยสลายสารอินทรีย์ที่อยู่ในน้ำเสียจากโรงงานแปรรูปทางการเกษตรและเลี้ยงสัตว์ที่สภาวะไร้อากาศ ในการผลิตไฟฟ้าจ่ายให้ภาคอุตสาหกรรมมักเป็นระบบ Combined Heat and Power (CHP) ที่สามารถผลิตได้ทั้งความร้อน (ไอและน้ำร้อน) และไฟฟ้าจากการเผาชีวมวลพวกเศษไม้




มหาสมุทร อีกแหล่งพลังงานนานาประโยชน์
พลังงานจากมหาสมุทร (Ocean energy)
เราสามารถเก็บเกี่ยวประโยชน์จากมหาสมุทรที่มีถึง 70% ของพื้นผิวโลกได้ในรูปแบบของพลังงานคลื่น พลังงานน้ำขึ้นน้ำลงและการแปลงพลังงานความร้อนของมหาสมุทร
  • พลังงานคลื่น (Wave energy)
    กระแสคลื่นในทะเลหรือมหาสมุทรสามารถนำมาผลิตไฟฟ้าได้โดยอาศัยอุปกรณ์ที่ดึงพลังงานจากคลื่นมาใช้โดยตรง ซึ่งจะทำการแปลงการเคลื่อนไหวในแนวตั้งของคลื่นและการพองตัวเป็นแรงกดอากาศไปผลักดันให้เครื่องกำเนิดไฟฟ้าหมุน การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานคลื่นสามารถทำได้ทั้งแบบระบบที่ติดตั้งไปตามชายฝั่งและระบบที่ติดตั้งนอกฝั่งที่น้ำลึกกว่า 40 เมตร
  • พลังงานน้ำขึ้นน้ำลง (Tidal energy)
    การต่างระดับของน้ำขึ้นน้ำลงนำมาใช้ผลิตไฟฟ้าได้ ซึ่งควรมีพิสัยน้ำขึ้นน้ำลงมากกว่า 5 เมตร และต้องสร้างเขื่อนที่ปากแม่น้ำหรือปากอ่าวเพื่อเป็นอ่างเก็บน้ำ เมื่อน้ำขึ้นน้ำจะไหลเข้าสู่อ่างเก็บน้ำ และเมื่อน้ำลงน้ำจะไหลออกจากอ่างเก็บน้ำ การไหลเข้าและออกของน้ำนี้นำไปหมุนกังหันที่ต่ออยู่กับเครื่องกำเนิดไฟฟ้า นอกจากนี้ กังหันน้ำขึ้นน้ำลง (Tidal turbine) ยังถูกใช้ผลิตไฟฟ้า โดยจะเรียงตัวเป็นแถวอยู่ใต้น้ำริมชายฝั่งที่ความลึก 20-30 เมตร
  • การแปลงพลังงานความร้อนของมหาสมุทร (Ocean Thermal Energy Conversion หรือ OTEC)
    การผลิตไฟฟ้าเกิดขึ้นได้โดยใช้อุณหภูมิที่แตกต่างกันระหว่างพื้นผิวและความลึกของมหาสมุทร ควรมีความแตกต่างกันอย่างน้อย 20 °C ระบบนี้อาศัยสารที่มีจุดเดือดต่ำ เช่น แอมโมเนียเหลว ซึ่งเมื่อปะทะกับความร้อนของพื้นผิวมหาสมุทร จะระเหยเป็นไออย่างรวดเร็ว ไอที่ขยายตัวจะไปขับเคลื่อนกังหันที่ต่อกับเครื่องกำเนิดไฟฟ้า

และแล้วก็ดำเนินมาถึงตอนท้ายท้ายตอนจนได้ แต่เรื่องของพลังงานหมุนเวียนจากนอกโลกไม่ได้มีเพียงเท่านี้ เราจะต้องมาติดตามเรื่องราวที่เหลืออยู่เกี่ยวกับพลังงานหมุนเวียนที่เป็นผลจากดวงอาทิตย์โดยตรงในฉบับหน้า
1 ที่มา: www.eere.energy.gov
* ภาพจากเว็บไซต์ NREL, Wavegen และ Blue energy