ตอน ระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์
เรื่องราวของพลังงานทดแทนได้ถูกนำเสนอผ่าน "เส้นทางสู่พลังงานสีเขียว"
ไปบ้างแล้วในชุดก่อนหน้านี้ ที่หวังจะช่วยจุดประกายความคิดในการเลือกใช้พลังงานทดแทนที่มีอยู่หลายรูปแบบ
ณ โอกาสนี้ยังมีเรื่องพิเศษๆ มาฝาก... อยากจะนำเรื่องการผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์มาพูดถึง
เนื่องด้วยความสนใจในการพัฒนาด้านนี้ยิ่งมีมากขึ้นเรื่อยๆ
|
|
ระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์คืออะไร
เรามาเริ่มจากความหมายกันก่อน ระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์
ตรงกับคำว่า Solar electric system หรือ Photovoltaic (PV) system
และอาจเรียกให้จำง่ายขึ้นว่า "ระบบเซลล์แสงอาทิตย์"
เป็นระบบที่ทำการเปลี่ยนแสงอาทิตย์ให้เป็นไฟฟ้าได้โดยตรงผ่านทางอุปกรณ์สำคัญ
ได้แก่ "แผงเซลล์แสงอาทิตย์" ระบบจะทำงานในเวลาที่มีแสงอาทิตย์เท่านั้น
และจะสามารถผลิตไฟฟ้าได้มากยิ่งขึ้นหากมีแสงอาทิตย์มากพอตกกระทบโดยตรงบนแผงเซลล์แสงอาทิตย์
โดยแผงเซลล์แสงอาทิตย์เพียงอย่างเดียวคงไม่สามารถเกิดเป็นระบบเซลล์แสงอาทิตย์ได้
จึงต้องประกอบไปด้วยอุปกรณ์อื่นๆ เช่น อาจมีการจัดเก็บไฟฟ้าที่ผลิตได้เวลาที่มีแสงอาทิตย์ไว้ในแบตเตอรี่เพื่อใช้ประโยชน์ต่อไป
หรือต้องอาศัยเครื่องแปลงกระแสไฟฟ้าเพื่อแปลงให้เป็นไฟฟ้ากระแสสลับเพื่อใช้กับอุปกรณ์ไฟฟ้าอื่นๆ
ตามต้องการ เป็นต้น
|
หากลองเปรียบเทียบระบบเซลล์แสงอาทิตย์กับสิ่งที่อยู่ใกล้ๆ ตัวจะทำให้เราเห็นภาพของระบบเซลล์แสงอาทิตย์ชัดเจนยิ่งขึ้น
"ระบบกักเก็บน้ำฝน"
เป็นระบบซึ่งมีความคล้ายคลึงกับระบบเซลล์แสงอาทิตย์ด้วยปัจจัยนานาประการ
ไม่ว่าจะเป็น ปริมาณน้ำฝนจะมีได้ก็ต่อเมื่อเกิดฝนตกลงมา เช่นเดียวกับแสงอาทิตย์จะมีเฉพาะในเวลากลางวันเท่านั้น
และอาจมีปริมาณมากบ้างน้อยบ้างทั้งนี้ก็เป็นไปตามสภาพอากาศเหมือนกัน
นอกจากนี้การรวมกันเป็นระบบของทั้งสองระบบก็ยังมีอุปกรณ์ส่วนต่างๆ
ที่ทำหน้าที่ใกล้เคียงกันอีก เช่น
|
|
ระบบเซลล์แสงอาทิตย์ |
ระบบกักเก็บน้ำฝน |
แผงเซลล์แสงอาทิตย์
ผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ |
พื้นที่บนหลังคา
รองรับน้ำฝนที่ตกลงมา |
แบตเตอรี่
เก็บไฟฟ้าและจ่ายให้กับอุปกรณ์ไฟฟ้า |
ถังเก็บน้ำ
สำหรับเก็บน้ำฝนไว้ใช้ต่อไป |
สายไฟ
ส่งไฟฟ้าไปยังแบตเตอรี่และจ่ายไปใช้งาน |
ท่อ
ใช้ลำเลียงน้ำไปยังถังเก็บและจ่ายใช้งาน |
เครื่องควบคุมการไหลของไฟฟ้า |
วาล์วที่ติดอยู่กับท่อ
ใช้ควบคุมการไหลของน้ำ |
อุปกรณ์ไฟฟ้า
เช่น หลอดไฟฟ้า, พัดลม ฯลฯ |
อุปกรณ์ที่ใช้น้ำ
เช่น ก๊อกน้ำ, ฝักบัวอาบน้ำ ฯลฯ |
การทำงานของระบบเซลล์แสงอาทิตย์
ทีนี้มาดูกันต่อไปถึงการทำงานของระบบเซลล์แสงอาทิตย์ ซึ่งจะเปรียบเทียบกับระบบกักเก็บน้ำฝนไปพร้อมๆ
กันด้วย
|
สถานที่ในการติดตั้งแผงเซลล์แสงอาทิตย์ควรให้มีแสงอาทิตย์ส่องถึง
เป็นที่โล่งและไม่มีเงามาบังเซลล์ จึงนิยมติดตั้งไว้บนหลังคาบ้านหรืออาคาร
เมื่อมีแสงอาทิตย์ตกกระทบแผงเซลล์แสงอาทิตย์โดยตรงจะทำการผลิตไฟฟ้า
ยิ่งแผงเซลล์แสงอาทิตย์มีขนาดใหญ่มาก ก็จะผลิตไฟฟ้าในเวลาที่มีแสงอาทิตย์ได้มาก
และถ้ามีแสงอาทิตย์แรงจัด ก็จะผลิตไฟฟ้าเก็บสะสมได้มากเช่นกัน
ในทำนองเดียวกัน ระบบกักเก็บน้ำฝนใช้หลังคาบ้านรองรับน้ำฝนที่ตกลงมา
ยิ่งหลังคามีพื้นที่มากก็จะยิ่งรองรับน้ำฝนได้มากขึ้น รวมถึงถ้ามีฝนตกหนักมากเท่าไร
ปริมาณน้ำที่จะเก็บไว้ใช้ก็มีมากเท่านั้น
เนื่องจากแผงเซลล์แสงอาทิตย์จะสามารถผลิตไฟฟ้าได้เฉพาะในเวลากลางวันที่มีแสงอาทิตย์
ดังนั้น หากมีความต้องการใช้ไฟฟ้าในเวลากลางคืนหรือนำไปใช้งานอื่นๆ
จำเป็นต้องมีการจัดเก็บไฟฟ้าที่ผลิตได้ลงในแบตเตอรี่ ซึ่งถูกออกแบบเพื่อให้ทำการประจุไฟฟ้าเก็บไว้และจ่ายให้กับอุปกรณ์ไฟฟ้าที่ต่อเชื่อมอยู่
สำหรับระบบกักเก็บน้ำจะมีถังเก็บน้ำที่ทำหน้าที่คล้ายกับแบตเตอรี่
โดยจะกักเก็บน้ำสำรองไว้ใช้ในตอนที่ฝนไม่ตกและจ่ายออกไปเมื่อมีความต้องการใช้
และแน่นอนว่าเมื่อแบตเตอรี่มีการประจุไฟฟ้าและจ่ายประจุไฟฟ้า ก็ต้องมีตัวควบคุม
ในระบบเซลล์แสงอาทิตย์มีเครื่องควบคุมการประจุและจ่ายประจุไฟฟ้า
ทั้งนี้เพื่อป้องกันการรับกระแสไฟฟ้าเข้ามามากเกินและการจ่ายกระแสไฟฟ้าออกไปมากเกิน
ซึ่งเทียบได้กับวาล์วที่ท่อน้ำขาเข้าและขาออกของระบบกักเก็บน้ำฝน
เพื่อไม่ให้น้ำไหลเข้ามาเต็มจนล้นและควบคุมน้ำที่จ่ายออกไป
อุปกรณ์ที่ใช้ไฟฟ้าซึ่งผลิตได้จากระบบเซลล์แสงอาทิตย์ที่ใช้ทั่วไป
คือ หลอดไฟฟ้า ไม่เพียงเท่านี้ยังนำไปใช้กับอุปกรณ์ไฟฟ้าอื่นๆ
ได้ เช่น โทรทัศน์, วิทยุ, พัดลม, คอมพิวเตอร์ แม้กระทั่งเครื่องสูบน้ำและตู้เย็นถ้ามีการออกแบบระบบที่เหมาะสม
ส่วนอุปกรณ์ที่ใช้น้ำจากระบบกักเก็บน้ำฝนที่ง่ายไม่ซับซ้อน คือ
ก๊อกน้ำ ระบบที่ถูกออกแบบให้รองรับการใช้งานที่ซับซ้อนมากขึ้นจะใช้งานร่วมกับสุขภัณฑ์
ฝักบัวอาบน้ำ และอ่างอาบน้ำได้ด้วย
ยังมีอีกสิ่งหนึ่งซึ่งสำคัญไม่น้อยนั่นคือ การลำเลียงหรือส่งไฟฟ้าและน้ำไปยังจุดที่ต้องการ
จะใช้สิ่งอื่นใดไปไม่ได้นอกจากสายไฟที่ยอมให้ไฟฟ้าไหลจากจุดหนึ่งไปยังจุดอื่นๆ
และท่อน้ำสำหรับลำเลียงน้ำไปใช้งานต่างๆ โดยขนาดของสายไฟและท่อน้ำเป็นปัจจัยสำคัญต่อการไหลของไฟฟ้าและน้ำ
กล่าวคือ สายไฟขนาดใหญ่จะยอมให้ไฟฟ้าไหลผ่านได้ง่ายกว่าสายไฟขนาดเล็ก
เช่นเดียวกับท่อขนาดใหญ่จะทำให้น้ำไหลผ่านได้ง่ายกว่าท่อขนาดเล็ก
|
|
หลังจากที่คุณผู้อ่านทำได้เข้าใจในความหมายและการทำงานของระบบเซลล์แสงอาทิตย์หรือระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์พร้อมด้วยตัวอย่างที่ทำให้เข้าใจง่ายขึ้นไปแล้ว
ฉบับหน้ามาดูกันต่อถึงผลผลิตที่ได้จากระบบเซลล์แสงอาทิตย์ ซึ่งก็คือไฟฟ้า
แต่จะมีที่มาและที่ไปอย่างไร ขอให้ติดตาม!
ที่มาของข้อมูล: PV Solar
Photovoltaic Technical Training Manual, Mr. Herbert Wade
ที่มาของภาพ: เว็บไซต์ nrel.gov, pikespeakpermaculture.org |
|