เนื่องจากระบบเซลล์แสงอาทิตย์เป็นระบบไฟฟ้ากระแสตรงแรงดันต่ำ
(DC) การออกแบบระบบจะต้องระมัดระวังในการพิจารณาเลือกชนิดและขนาดสายไฟให้เหมาะสม
ซึ่งจะส่งผลต่อประสิทธิภาพการทำงานของระบบ หากเลือกสายไฟที่ไม่เหมาะสม
อาจทำให้เกิดความร้อนสูงและเกิดไฟไหม้จากกระแสที่มากเกินได้
รวมถึงการเลือกใช้ขนาดสายไฟและการต่อเชื่อมที่ถูกต้องจะทำให้ผู้ใช้ไม่ต้องไปดูแลรักษาเป็นเวลานานและปลอดภัยตลอดอายุการใช้งานเลยทีเดียว
การเลือกชนิดและขนาดสายไฟได้ถูกต้อง จะช่วยเพิ่มสมรรถนะและความเชื่อถือของระบบเซลล์แสงอาทิตย์
โดยสายไฟจะต้องมีขนาดเพียงพอที่จะให้ปริมาณไฟฟ้ามากที่สุดไหลไปตามสายไฟได้และเกิดการสูญเสียแรงดันในสายไฟน้อย
รวมถึงสายไฟควรมีระยะสั้นเท่าที่จำเป็น เนื่องจากสายไฟมีความต้านทานอยู่
จึงต้องมีแรงดันในการผลักให้กระแสไหลไปตามสายไฟ ถ้าความต้านทานของสายไฟมากขึ้น
ยิ่งต้องใช้แรงดันมากขึ้น ปริมาณแรงดันที่ใช้ผลักกระแสนี้เรียกว่า
แรงดันตกในสายไฟ
ข้อสังเกต:
- ที่แรงดันเท่ากัน ไฟฟ้าจะไหลไปตามสายไฟขนาดใหญ่มากว่าสายไฟขนาดเล็ก
- สายไฟที่ยาวเกินไป จะทำให้สูญเสียแรงดันมากเกินไปด้วย
- แรงดันตกในสายไฟเกิดจากปริมาณไฟฟ้าที่ไหลในสายไฟ, ขนาดสายไฟและความยาวสายไฟ
โดยคำนวณได้จากสูตรต่อไปนี้
แรงดันที่สูญเสีย=กระแสไฟฟ้า
x [0.02 x ความยาว(ม) / พื้นที่หน้าตัด (มม.2)]
|
ชนิดของสายไฟ
ภายในสายไฟจะประกอบด้วยโลหะที่เป็นตัวนำไฟฟ้า (Conductor) เช่น
อลูมิเนียมและทองแดง ฯลฯ โดยทั่วไปจะใช้สายไฟที่ทำจากตัวนำไฟฟ้าทองแดง
ซึ่งมีหลายชนิด เช่น สายไฟทำจากทองแดงเส้นใหญ่เส้นเดียวอยู่ภายในปลอกฉนวน,
สายไฟทำจากทองแดงเส้นเล็กหลายๆ เส้นบิดอัดเป็นเกลียวอยู่ภายในปลอกฉนวน
เรียกว่า สายไฟตีเกลียว (Stranded wire) จะนิยมใช้ในระบบเซลล์แสงอาทิตย์
เพราะมีความยืดหยุ่นสูง ต่างจากสายไฟสายเดี่ยวที่เมื่อบิดงอจะแตกหักได้ง่าย
จึงไม่ใช้กัน และสายเคเบิ้ล (Cable) ซึ่งรวมหลายตัวนำไฟฟ้าไว้ในสายไฟเส้นเดียว
โดยมีฉนวนชั้นในหุ้มตัวนำไฟฟ้าแต่ละเส้นและฉนวนชั้นนอกหุ้มสายไฟทั้งหมดเข้าไว้ด้วยกัน
การเลือกชนิดสายไฟต้องพิจารณาถึงปริมาณรวมของไฟฟ้าที่ไหลไปตามสายไฟ
ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง พร้อมกันนี้ควรติดตั้งฟิวส์เพื่อป้องกันกระแสไฟฟ้ารั่วด้วย
ขวา: สายเคเบิ้ล
ซ้าย: สายไฟตีเกลียว
|
|
การเลือกชนิดและขนาดสายไฟ
มีหลักในการพิจารณาดังต่อไปนี้
- อย่าใช้สายไฟที่ยาวเกินความต้องการใช้งานที่แท้จริง
- ค่าสูงสุดของแรงดันตกในสายไฟของระบบเซลล์แสงอาทิตย์ 12 โวลต์
ไม่ควรเกิน 0.5 โวลต์ และระบบเซลล์แสงอาทิตย์ 24 โวลต์ ไม่ควรเกิน
1 โวลต์
- ใช้ชนิดของสายไฟให้เหมาะสมกับการใช้งาน
- สายไฟที่ใช้งานแบบฝังดิน ต้องมีฉนวนที่ได้รับการออกแบบให้ทนต่อเห็ดราและความชื้นภายใต้ผิวดิน
- สายไฟที่ใช้งานกลางแจ้ง ต้องมีฉนวนที่ได้รับการออกแบบให้สามารถตากแดดตากฝนและทนต่ออุณหภูมิสูง
หรือควรติดตั้งในรางสายไฟ
- สายไฟที่ใช้งานภายในบ้านหรืออาคาร ห้ามนำไปใช้งานผิดประเภทเป็นอันขาด
เช่น นำไปใช้งานภายนอกหรือฝังดิน ฯลฯ
หมายเหตุ:
- สายไฟที่ใช้ในการจ่ายกำลัง (วัตต์) ที่เท่ากัน ระบบเซลล์แสงอาทิตย์
24 โวลต์ ต้องใช้สายไฟที่มีขนาด 1/4 ของขนาด (มม.2) สายไฟที่ใช้กับระบบเซลล์แสงอาทิตย์
12 โวลต์
- การจ่ายกระแสปริมาณที่เท่ากันโดยไม่ให้เกิดแรงดันตกเพิ่มขึ้น
ถ้าสายไฟมีความยาวเป็น 2 เท่า ต้องเพิ่มขนาด (มม.2) ให้ใหญ่เป็น
2 เท่าด้วย
- อย่าใช้สายไฟที่เล็กกว่า 2.5 มม.2 หรือ 12 AWG*
ในการต่อสายไฟของระบบเซลล์แสงอาทิตย์
- อุปกรณ์ไฟฟ้าที่มีมอเตอร์ไฟฟ้า (เช่น ตู้เย็น, เครื่องซักผ้าและเครื่องสูบน้ำ
ฯลฯ ยกเว้น พัดลม) ต้องใช้สายไฟที่สามารถจ่ายกระแสอย่างน้อยที่สุดเป็น
2 เท่าของกระแสที่ต้องการในภาวะปกติ เพราะมอเตอร์ไฟฟ้าต้องการกระแสเพิ่มขึ้นในตอนเริ่มเดินเครื่อง
|
|
การเลือกขนาดสายไฟที่เหมาะสม
การกำหนดขนาดสายไฟที่เหมาะสมกับระบบเซลล์แสงอาทิตย์นั้นต้องใช้ตารางแสดงข้อมูลสำหรับการต่อสายไฟต่างๆ
ของระบบ 12 โวลต์และ 24 โวลต์ ก่อนการใช้ตารางคุณจะต้องรู้ข้อมูลในการคำนวณขนาดสายไฟดังนี้
แรงดันของระบบเซลล์แสงอาทิตย์, ความยาวของสายไฟตลอดทั้งเส้นและปริมาณกระแสมากที่สุดที่ต้องไหลไปตามสายไฟ
ทั้งนี้คุณจะได้เลือกตารางที่ตรงกับความต้องการ ซึ่งจะนำเสนอรายละเอียดของตารางและตัวอย่างการคำนวณในตอนต่อไป
|
การต่อเชื่อมและเดินสายไฟ
การต่อสายไฟในการติดตั้งระบบเซลล์แสงอาทิตย์ควรทำเป็นอย่าง เพราะแรงดันไฟฟ้าที่นำมาใช้ในการผลักไฟฟ้าให้ไหลไปตามสายไฟนั้นต่ำมากๆ
วิธีที่ควรใช้ต่อสายไฟ คือ ใช้คอนเนกเตอร์แบบสกรู (Screw connector)
ช่วยให้ทำความสะอาดได้ง่ายและไม่ควรละเลยการตรวจเช็คสกรูและขันให้แน่นอยู่เสมอ
การเดินสายไฟส่วนต่างๆ ของระบบควรติดตั้งในรางสายไฟ
ข้อต่อแบตเตอรี่เป็นทางผ่านของพลังงานที่เข้าและออกแบตเตอรี่ทั้งสิ้น
จึงควรใช้สกรูในการต่อเชื่อมและนำสกรูร้อยเข้าที่ขั้วแบตเตอรี่
อย่านำสายไฟต่อโดยตรงกับขั้วแบตเตอรี่ จะเป็นการดีหากใช้คอนเนกเตอร์แบบสกรู
|
|
นอกจากนี้แล้ว คอนเนกเตอร์แบบสกรูยังเป็นตัวเชื่อมที่ดีสำหรับการต่อแผงเซลล์แสงอาทิตย์อีกด้วย
รวมถึงควรหมั่นเช็คเพื่อให้สกรูแน่นอยู่เสมอ ที่ขอเน้นย้ำ คือ
ต้องทำความสะอาดและขันจุดต่อเชื่อมต่างๆ อย่างต่อเนื่อง ควรทำให้ได้อย่างน้อยที่สุดปีละ
1 ครั้ง เพราะหากเกิดรอยรั่วจะได้สูญเสียน้อยที่สุด |
คอนเนกเตอร์แบบสกรู ตัวเชื่อมที่ดีสำหรับการต่อสายไฟในระบบเซลล์แสงอาทิตย์
|
เรื่องราวของการเลือกชนิดและขนาดสายไฟยังไม่จบเพียงเท่านี้
ในตอนต่อไปของ "เส้นทางสู่พลังงานสีเขียว"
จะนำเสนอตารางแสดงข้อมูลสำหรับการต่อสายไฟในการติดตั้งระบบเซลล์แสงอาทิตย์
พร้อมด้วยตัวอย่างการคำนวณที่จะทำให้คุณเข้าใจในการกำหนดขนาดสายไฟให้กับระบบเซลล์แสงอาทิตย์ได้อย่างถูกต้อง |
*AWG (American Wire Gauge) สามารถแปลงเป็นหน่วย
มม.2 ได้ดังนี้
4 AWG = 21.1 มม.2 10 AWG
= 5.28 มม.2 16 AWG
= 1.32 มม.2
6 AWG = 13.4 มม.2 12 AWG
= 3.32 มม.2
8 AWG = 8.41 มม.2 14 AWG
= 2.09 มม.2
ที่มาของข้อมูล: PV
Solar Photovoltaic Technical Training Manual, Mr. Herbert
Wade
ที่มาของภาพ: store.solar-electric.com, Leonics
|